Pump Guru

Home / Pump Guru


ข้อพิจารณาในการเลือกปั๊ม – เริ่มต้นได้ดี ก็จบได้สวย [22 December 2021]

หากต้องการจะเลือกปั๊มให้เหมาะสม ทำงานเข้ากับระบบของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเริ่มต้นที่การวิเคราะห์ระบบของเราจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ และบทความนี้จะขอนำเสนอสิ่งที่จะต้องพิจารณาหากต้องการจะเลือกปั๊มให้ได้ตามที่ต้องการ


สมมุติว่าคุณเพิ่งจะได้รับหน้าที่ให้เลือกปั๊มสำหรับใช้งานในโครงการที่มีการใช้งานแบบพิเศษที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน (ซึ่งคุณก็อาจจะกำลังทำอยู่) และก็มีกว่า 100 บริษัทที่กำลังเสนอปั๊มชนิดหนึ่ง หรืออาจได้รับข้อเสนอมากกว่า 1 ชนิด เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่พิเศษนั้นให้แก่ผู้ใช้งาน และด้วยตัวเลือกและคำถามที่มากมาย ก็คงทำให้คุณต้องปวดหัว จนต้องคว้ายาพารามาทานสักสองเม็ด

เนื่องจากว่า ในอุตสาหกรรมปั๊มนั้นจะโฟกัสไปที่การใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นจึงสำคัญมาก ๆ ที่จะเริ่มต้นการเลือกปั๊มด้วยการวิเคราะห์ระบบ หรือโจทย์ที่เราได้รับให้ถี่ถ้วน เพราะแน่นอนว่าถ้าหากผิดตั้งแต่โจทย์ ก็ไม่ต้องคาดหวังเลยว่าคำตอบที่ได้จะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง

การหาตำแหน่งของปั๊มเราในระบบควรจะเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะการเคลียร์กันให้ชัด ๆ เลยว่าปั๊มของเรามีลักษณะการใช้งานเป็นอย่างไร เป็นการใช้งานแบบต่อเนื่อง (Continuous) หรือว่าแบบไม่ต้อเนื่อง (Intermittent) หรือว่า ใช้งานสำหรับส่งถ่ายเคลื่อนย้ายสาร (Transferring) หรือ ใช้หมุนวนสารในระบบ (Circulation)

หลังจากที่เราพอทราบหน้าที่ของปั๊มเราแล้ว ต่อไปคือการวิเคราะห์ระบบที่ปั๊มของเราทำงาน โดยเริ่มจาก สารที่ใช้งานในระบบ หรือก็คือสารที่ใช้งานกับปั๊มเรา (Process Fluid) ว่ามีของแข็งผสมอยู่ด้วยหรือไม่ (Solid Content) ? ถ้าหากมี ของแข็งนั่นคืออะไร และมีปริมาณ หรือความเข้มข้นเท่าไหร่ ? ควรทราบค่าความหนืด (Viscosity), ความดันไอ (Vapour Pressure), ค่าความถ่วงจำเพาะ(Specific Gravity) หรือความหนาแน่น (Density) และ อุณหภูมิของสาร (Process Temperature) เป็นต้น


ลำดับต่อไปก็คือ พิจารณาถึงตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบของเรา ยกตัวอย่างเช่น;

-          Net Positive Suction Head (NPSH) ที่ควรจะพิจารณาให้ค่า NPSHa > NPSHr เสมอ

-          ความเป็นไปได้ที่จะมีอากาศหรือแก๊สอื่น ๆ เข้าสู่ระบบ (Entrained Air or Gas)

-          เงื่อนไขของค่าความดันและอุณหภูมิของทั้งต้นทาง (Source) และปลายทาง (Destination) รวมถึงระดับความแปรปรวนของเงื่อนไขเหล่านี้

-          อัตราการไหลที่ต้องการ รวมถึงลักษณะที่ต้องการ เช่น ต้องการเป็นการไหลแบบต่อเนื่อง, ต้องการปรับเปลี่ยนอัตราการไหลได้ หรือ เป็นการไหลแบบไม่ต่อเนื่อง

 

 

สภาพหน้างานและเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องพิจารณา ถ้าหากว่าปั๊มทำงานในสภาพแวดล้อมที่สะอาด มีการระบายอากาศที่เหมาะสม และอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ความต้องการของตัวปั๊มเองก็จะต่างจาก ปั๊มที่จะต้องนำไปติดตั้งกลางแจ้ง ที่มีสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน นอกเหนือจากนั้น ยังต้องพิจารณาว่าสภาพหน้างานนั้นมีอุณหภูมิเป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะเผชิญกับความร้อน หรือความเย็นหรือไม่ ความปลอดภัยที่หน้างาน เป็นพื้นที่อันตรายหรือไม่ จำเป็นต้องเป็นอุปกรณ์กันระเบิดหรือไม่ และสุดท้ายก็คือ มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักหรือพื้นที่หรือไม่ รวมถึงความดังของเสียงหรือความกังวลเรื่องของการสั่น (Vibration) ก็ควรจะพิจารณาด้วย


อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับพื้นที่อันตราย ก็จะต้องมีโค้ดระบุด้วยว่าสำหรับพื้นที่โซนไหน และมาตรฐานยืนยัน Explosion Proof

 

ถึงแม้ว่าลักษณะการควบคุมระบบ หรือระบบควบคุมปั๊ม โดยทั่วไปจะตัดสินใจหลังจากที่เลือกตัวปั๊มไปแล้ว แต่ในบางกรณีที่พื้นที่หน้างานหรือสิ่งแวดล้อมหน้างาน อาจส่งผลถึงระบบควบคุมเหล่านี้ ดังนั้นแล้ว การพิจารณาถึงระบบเหล่านี้ก็ควรจะมีการพิจารณาไว้ด้วย

เราอาจแบ่งได้ว่า ในการเลือกปั๊ม จะประกอบไปด้วย 3 พารามิเตอร์หลัก ๆ นั่นก็คือ Hydraulic, Mechanical และ วัสดุ โครงสร้างของอุปกรณ์ ซึ่งตัวการออกแบบของระบบจะเป็นตัวกำหนดข้อกำหนดสำรับพารามิเตอร์เหล่านี้เอง

และหน้าที่ของคุณก็เพียงแค่จับคู่ลักษณะของปั๊มที่บริษัทต่าง ๆ ทั้งหลาย ให้เข้ากับความต้องการของระบบ เพียงเท่านี้ก็จะได้ปั๊มที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนั่นเอง

 

สำหรับ รายละเอียดเพิ่มเติมลองไปศึกษาใน Pump Data Sheet สำหรับ Centrifugal Pumps ตามมาตรฐาน ASME Centrifugal Pumps; ASME 73.1, ASME 73.2 ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยครับ

https://cstools.asme.org › csconnect › FileUpload

 

เรียบเรียง และจัดทำโดย; อานนท์ ยอดพินิจ
ที่มา; Pump & System Troubleshooting Handbook, Selecting a Pump - The Right Start Leads to the Right Finish, J. Robert Krebs