Pump Guru

Home / Pump Guru


Pump in Parallel – When One is Not Enough [22 December 2021]

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงการใช้งานปั๊ม โดยการต่อระบบแบบขนาน (Parallel) ว่าทำไมเราจึงต้องต่อระบบปั๊มแบบขนาน การต่อระบบปั๊มแบบขนาน จะส่งผลอย่างไรต่อระบบ และข้อควรระวังในการต่อระบบปั๊มแบบขนาน

 

ในบางครั้ง เราอาจต้องการปั๊มมากกว่า 1 ตัว ในงานเดียวกัน ทั้งนี้อาจจะเพราะว่าระบบของเราต้องการอัตราการไหลที่มากเกินกว่าปั๊ม 1 ตัว จะสามารถทำได้ หรือ ระบบเราต้องการให้มีการควบคุมอัตราการไหล ทางออกหนึ่งสำหรับปัญหาเหล่านี้ก็คือการออกแบบระบบปั๊มแบบต่อขนาน (Pumps in Parallel) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เราสามารถใช้ปั๊ม 2 ตัว หรือมากกว่านั้น ช่วยกันสร้างหรือควบคุมอัตราการไหลภายในระบบ ในเชิงทฤษฎีแล้วนั้น การต่อปั๊มที่เหมือนกัน 2 ตัว ในระบบท่อแบบขนาน จะช่วยเพิ่มอัตราการไหลให้แก่ระบบได้ 2 เท่า โดยที่ใช้ Head เท่าเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับปั๊มหอยโข่งไม่ได้เป็นไปตามนั้น สามารถอธิบายได้จากกราฟสมรรถนะของปั๊ม


 

สำหรับปั๊มหอยโข่ง (Centrifugal Pump) ในเชิงทฤษฎีแล้ว การต่อท่อในแบบขนาน ค่าความดันภายในท่อจะมีค่าคงที่ แต่อัตราการไหลที่ปลายทาง จะมีค่าเท่ากับผลรวมของอัตราการไหลของท่อที่ต่อเข้ามาแบบขนาน ซึ่งสำหรับปั๊ม 2 ตัวที่เหมือนกัน ขนาดท่อเท่ากัน อัตราการไหลสุดท้ายก็ควรที่จะเป็น 2 เท่าของ อัตราการไหลที่ปั๊ม 1 ตัวทำได้ (จากจุดที่ 1 ไปยังจุดที่ 2) แต่ในทางปฏิบัติแล้วกราฟของระบบ (System Curve) โดยเฉพาะของระบบปั๊มแล้ว จะมีรูปแบบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Exponential Curve)    ทำให้จุดตัดของกราฟของระบบและกราฟประสิทธิภาพของปั๊ม หรือก็คือจุดใช้งาน (Operating Point) เป็นจุดที่ 3 แทนที่จะเป็น จุดที่ 2 เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ในทททฤษฎี ซึ่งก็จะเห็นว่าจุดตัดที่ได้นั้น กลับมีค่า Head ที่สูงกว่า และค่าอัตราการไหลที่ได้ ก็ไม่ถึงค่าตามทฤษฎีอีกด้วย โดยในการหาอัตราการไหลที่ได้ ก็จะต้องนำเอาค่า Head ที่จุดใช้งานนี้ กลับไปเทียบกับกราฟประสิทธิภาพของปั๊มในขณะทำงานเพียงตัวเดียว (จุด A) ดังนั้นแล้ว ในระบบที่ปั๊มหอยโข่งทำงานแบบขนาน อัตราการไหลที่ปั๊มแต่ละตัวสามารถทำได้ จะมีค่าน้อยกว่าอัตราการไหลของปั๊มในขณะที่ปั๊มทำงานตัวเดียว

 

สำหรับปั๊มแบบปริมาตรแทนที่เชิงบวก (Positive Displacement Pump) เอง ก็ใช้หลักการเดียวกันกับปั๊มหอยโข่ง นั่นคือนำเอาค่าอัตราการไหลที่ปั๊มทำได้ ที่ความดันเดียวกัน มารวมกันก็จะได้สมรรถณะของปั๊มที่ทำงานขนานกัน แต่ก็อย่าลืมไปว่าสำหรับปั๊มปริมาตรแทนที่เชิงบวกจะมีค่า Slip หรือการไหลย้อนกลับตามจุด Clearance ต่าง ๆ ภายในเสื้อปั๊ม และจะส่งผลให้ปริมาณอัตราการไหลลดลงตามไปด้วย ซึ่งยิ่งค่า Head ยิ่งสูง ค่า Slip ก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


 ในกรณีที่ผ่านมาจะกล่าวถึงเฉพาะ ในกรณีที่ปั๊มที่เลือกเป็นปั๊มที่เหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าปั๊มที่นำมาต่อกันแบบขนานนั้นเป็นคนละขนาดกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ? ในกรณีของปั๊มหอยโข่ง ประสิทธิภาพของปั๊มจะเป็นไปตามกราฟสมรรถณะด้านล่าง ถ้าหากว่าปั๊มตัวใดตัวหนึ่งทำงานเพียงตัวเดียว จุดใช้งานก็คือจุดตัดระหว่างกราฟของระบบ และกราฟสมรรถณะของปั๊ม ในขณะที่ หากทำงานพร้อมกันทั้งสองตัวอัตราการไหลของปั๊มแต่ละตัวก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามค่าความดันของระบบที่เปลี่ยนแปลงไป ตามจุดตัดใหม่ของกราฟระบบ (จุด B)


 สำหรับกรณีของปั๊มปริมาตรแทนที่เชิงบวก ไม่ได้มีปัญหาเรื่องของค่าอัตราการไหลที่ต่ำที่สุดเหมือนอย่างปั๊มหอยโข่ง ดังนั้นอัตราการไหลรวม ก็คือค่าอัตราการไหลของปั๊มทั้ง 2 ตัว

 

สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในการใช้งานลักษณะนี้ก็คือ ห้ามให้จุดใช้งานของปั๊มที่มีขนาดเล็กกว่า อยู่ในจุดที่น้อยกว่าค่าอัตราการไหลต่ำสุดที่ทางโรงงานผู้ผลิตแนะนำ (Minimum Continuous Stable Flow) ทั้งนี้เพื่อรักษาการอายุการใช้งานของปั๊มตัวที่เล็กกว่าให้ได้นานที่สุด

ในอีกกรณีหนึ่งของปั๊มหอยโข่ง หากเลือกปั๊ม 2 ตัว ที่มีขนาดต่างกันมาก ๆ ปั๊มที่มีขนาดเล็กกว่าจะไม่สามารถดันของเหลวในระบบได้เลย เนื่องจากว่า จุดทำงานของระบบมีค่าสูงกว่าค่า Shutoff Head หรือค่าความดันสูงสุดที่ปั๊มสามารถทำได้ของปั๊มตัวที่เล็กกว่า ดังแสดงในกราฟ


 

 ในการเลือกใช้งานปั๊มในระบบแบบขนานเอง นอกจากจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้งานในขณะที่ใช้งานพร้อมกันแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงประสิทธิภาพการทำงานของปั๊มแต่ละตัวด้วย กราฟของระบบอาจตัดกับกราฟประสิทธิภาพของปั๊มหากปั๊มทั้งสองตัวทำงานพร้อมกัน แต่หารใช้งานปั๊มเพียงแค่ 1 ตัว ค่าอัตราการไหลอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของระบบก็เป็นไปได้ ปั๊มอาจต้องทำงานที่จุดใช้งานสูงสุด หรือ จุด Runout ส่งผลต่ออายุการใช้งานของปั๊ม (Vibration และเสียงดัง) นอกจากนี้ค่า NPSHr ของปั๊มยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย และอาจเพิ่มจนเกินค่า NPSHa ของระบบทำให้เกิด Cavitation และความเสียหายต่อปั๊มได้


 

สำหรับปั๊มแบบการขจัดเป็นบวก ควรระวังในเรื่องของความดันสูงสุดที่ตัวปั๊มสามารถรับได้ หากนำปั๊มมาต่อแบบขนานกัน แนะนำให้เลือกใช้ปั๊มที่มีค่าความดันสูงสุดที่ตัวปั๊มสามารถรับได้ให้มีค่าใกล้เคียงกัน และควรมีวาล์วนิรภัย (Relief Valve) ทีมีการปรับค่าให้ถูกต้องเหมาะสมกับการใช้งาน

สุดท้ายนี้ จะขอสรุปไกด์ไลน์สำหรับการวางระบบปั๊มแบบขนาน ดังนี้

·        ใช้สำหรับเป็นปั๊มแบคอัพ (Backup) ในระบบที่มีความสำคัญมาก ๆ

·        ใช้ปั๊ม 2 ตัว หรือมากกว่า สำหรับควบคุมอัตราการไหลในระบบที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอัตราการไหล หรืออาจพิจารณาใช้งาน Variable Speed Control

·        ควรตรวจสอบว่าปั๊มที่เลือกมานั้นสามารถใช้งานได้ทั้งในระบบแบบต่อขนานและทำงานเพียงตัวเดียวหากจำเป็น เพื่อเป็นการสำรองไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

·        ในกรณีที่ใช้งานปั๊มหลาย ๆ ตัว ควรพิจารณาด้วยว่า หากปั๊มตัวที่ใหญ่ที่สุดเสียหาย ปั๊มส่วนที่เหลือควรจะสามารถยังคงรักษาอัตราการไหลสูงสุดไว้ได้

·        ในกรณีใช้งานปั๊มที่เหมือนกันในระบบปั๊มแบบขนาน ควรมีการจัดสันปันส่วนระยะเวลาในการทำงานของปั๊มแต่ละตัวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการสร้างสมดุลของอายุการใช้งานปั๊ม

 

ที่สำคัญที่สุด ควรให้ความสำคัญกับความแม่นยำในการคำนวณและหาค่าความดันต้านของระบบหรือกราฟของระบบ (System Curve) สำหรับช่วงของอัตราการไหลที่เราต้องการ ซึ่งจะเป็นจุดตัดสินเลยว่าระบบของเราควรจะมีหน้าตาอย่างไร