Pump Guru

Home / Pump Guru


Perfomance Curve VS. System Curve [22 December 2021]

Perfomance Curve VS. System Curve

หน้าที่ของปั๊มก็คือการส่งพลังงานกลจากมอเตอร์ไปเป็นรูปแบบของพลังงานไฮดรอริคในของเหลว พลังงานส่วนนี้จะค่อย ๆ หายไปตามการเคลื่อนที่ของของเหลวผ่านระบบ จึงเป็นที่มาของกราฟความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลกับค่าหัวของปั๊ม ที่จะเป็นตัวบอกเราว่าของเหลวจะมีพลังงานแค่ไหนที่ค่าอัตราการไหลและความเร็วรอบของมอเตอร์ค่านั้น ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ สำหรับกราฟของปั๊มที่ความเร็วรอบ 1800 RPM ดังแสดงในรูปที่ 1


รูปที่ 1 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าอัตราการไหลกับค่าหัวของปั๊ม ที่ความเร็ว 1800 RPM กับของระบบ

 

ลักษณะของระบบอย่างง่าย จะถูกแสดงในรูปที่ 2 ซึ่งจะคิดแค่ค่าความสูญเสียจากแรงเสียดทาน และความเร็วของของเหลวที่เกิดขึ้นในระบบ ซึ่งความสูญเสียจากความเร็วนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การไหลอย่างฉับพลัน และในระบบง่าย ๆ นี้จะมีค่าหัวของระบบเป็น 0 เมื่อไม่มีอัตราการไหล


รูปที่ 2 ระบบอย่างง่ายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงของทางด้านดูดกับด้านจ่าย

 

รูปที่ 3 แสดงลักษณะของระบบที่คล้าย ๆ กัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระดับความสูง ในกรณีนี้ ปั๊มจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพลังงานให้สอดคล้องกับค่าระดับความสูงที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ ก่อนที่จะสามารถผลักของเหลวให้เกิดการไหลได้ ค่าความต่างของความสูงนี้ [hs] เรียกว่า แรงดันสถิต


รูปที่ 3 ระบบอย่างง่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงของทางด้านดูดกับด้านจ่าย

 

เส้นกราฟของระบบ (System Curve) ดังแสดงในรูปที่ 1 นั้น จะเป็นเส้นที่บ่งชี้ถึงระดับของพลังงานที่ต้องใช้ในการเอาชนะค่าแรงดันสถิต, แรงเสียดทาน และค่าความสูญเสียจากความเร็ว ที่มีอยู่ในระบบ และยังเป็นเส้นที่ใช้ระบุถึงจุดทำงานของปั๊มอีกด้วย นั่นก็คือ จุดที่เส้นกราฟของระบบตัดกับกราฟความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลกับค่าหัวของปั๊ม [จุด At] ในรูปที่ 4


รูปที่ 4 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าอัตราการไหลกับค่าหัวของปั๊ม ที่ความเร็วต่าง ๆ กับของระบบ

 

สำหรับปั๊มที่จะทำงานได้ในระบบ ปั๊มจะต้องสามารถทำความดันให้ได้มากกว่าความดันสถิตของระบบ [hs] และถ้าหากมีการลดความเร็วรอบของมอเตอร์ลง ความสามาถในการสร้างแรงดันและอัตราการไหลก็จะลดลลงด้วย โดยที่ในรูปที่ 1 ถ้าลดความเร็วรอบลงต่ำกว่า 1200 RPM ปั๊มก็จะไม่สามารถทำงานได้ในระบบนี้ เนื่องจากว่า ปั๊มไม่สามารถเอาชนะความดันสถิตได้

จุดประสิทธิภาพสูงสุดของปั๊ม (Best Efficiency Point [BEP]) เกิดขึ้นเมื่ออัตราส่วนของค่ากำลังของไฮดรอริคต่อค่ากำลังที่ปั๊มได้รับ (จากมอเตอร์) มีค่าสูงที่สุด และจากรูปที่ 5 ก็จะเป็นว่าจุดทำงาน A1 มีอัตราการไหลสูงกว่าจุด BEP [B1] ในขณะที่ ถ้ามีการลดความเร็วรอบลงมา จุด BEP [B2]  กับจุดทำงาน A2 นั้นแทบจะเป็นจุดเดียวกันเลย แต่หากลดความเร็วรอบลงไปมากกว่านั้น จุดทำงาน A3 ก็จะหลุดออกไปทางซ้ายจากจุด BEP [B3] ค่อนข้างไกล


รูปที่ 5 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าอัตราการไหลกับค่าหัวของปั๊ม ที่ความเร็วต่าง ๆ กับของระบบ พร้อมแสดงจุด BEP

 

กราฟของระบบควรจะมีการคำนวณอย่างระมัดระวังโดยผู้ออกแบบระบบ ถ้าหากว่ามีความคลาดเคลื่อน ปั๊มก็อาจจะไม่สามารถทำงานตามจุดใช้งานที่ต้องการได้ และถ้าหากว่าเป็นไปได้ก็ควรเลือกใช้งานปั๊มที่จุดใช้งานใกล้เคียงกับจุด BEP ของปั๊ม ในรูปที่ 1 ก็คือจุด A2 นั่นเอง การใช้งานปั๊มที่จุดใช้งานไกลกว่าจุด BEP มาก ๆ จะส่งผลให้ปั๊มเสียหายได้จากการสึกและการสั่นสะเทือน ตำแหน่งของจุด BEP และคำแนะนำสำหรับช่วงของจุดใช้งานที่จะสามรถใช้ปั๊มได้อย่างปลอดภัย สามารถขอได้จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปั๊ม (i.e. API610, 6.1.12 ระบุว่าจุดใช้งานที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 70% - 120% ของอัตราการไหลของจุด BEP)

ถ้าหากว่าเราทราบจุดทำงานของปั๊มที่จุด Q1, H1, N1 และ HP1 เราก็สามารถหาจุดทำงานใหม่ ที่ความเร็วรอบ N2 ของปั๊มเราได้โดยใช้ความสัมพันธ์ตามกฎความคล้าย (Affinity Laws) ก็จะสามารถช่วยให้เราทราบถึงจุดใช้งานใหม่ได้

Flow:                     Q1 / Q2                  =             N1 / N2

Head:                    H1 / H2                   =             (N1 / N2)2

Power:                 HP1 / HP2            =             (N1 / N2)3

โดยที่ Q คือ อัตราการไหล, H คือ ค่าหัวของปั๊ม, N คือ ความเร็วรอบในการหมุนของเพลา และ HP คือ กำลังที่ปั๊มต้องการ

การจะคำนวณหากราฟของระบบ ให้ออกมาเป็นกราฟแบบในรูปที่ 1 โดยใช้จุด flow-head เดียวนั้น ก็สามารถทำได้ โดยที่จุด A1 มีค่าหัวสุทธิรวมอยู่ที่ h1 และค่าหัวสถิต hs ดังนั้นแล้ว ค่าหัวที่เกิดจากค่าความเสียดทานของท่อและอุปกรณ์ภายในท่อจะมีค่าเท่ากับ h1 - hs และเนื่องจากว่าค่าหัวจากแรงเสียดทางและความเร็วของของเหลวนั้นเป็นสัดส่วนกำลังสองของค่าอัตราการไหล เราจึงได้เป็นสมการสำหรับกราฟของระบบดังนี้

h2 = (q1 / q2)2 x (h1 - hs) + hs

โดยที่ สังเกตว่าในสมการนี้เราใช้ให้ตัวแปรทั้งหมดเป็นอักษรตัวเล็ก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สับสนกันระหว่างตัวแปลซึ่งเป็นตัวเลขของระบบ กับตัวแปรของปั๊ม ที่ปั๊มทำได้  สมการนี้จะอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า hs มีค่าคงที่ และสามารถใช้ได้แค่กับระบบที่มีค่าหัวสถิตคงที่เท่านั้น (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูง) จึงไม่สามารถใช้ได้กับระบบที่ต้องดูดสารออกจากถังจนหมด เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความสูงในถัง ซึ่งกราฟทั้งหมดจะมีการขยับขึ้นลงตามอัตราการเปลี่ยนแปลงของ hs ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปทรงของถังด้วย

วิธีการที่จะลดอัตราการไหลของปั๊มที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการลดความเร็วของเพลาปั๊ม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ววิธีนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีอุปกรณ์ควบคุมความเร็ว เช่น Inverter หรือ VSD ซึ่งในการติดตั้งปั๊มส่วนใหญ่ไม่มี ผู้ใช้งานปั๊มส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้วิธีการปรับเพิ่มค่าหัวของระบบโดยการหรี่วาล์วที่ทางฝั่งท่อด้านจ่ายของตัวปั๊ม ซึ่งก็สามารถลดอัตราการไหลของปั๊มได้จริง แต่ก็ตามมาด้วยการใช้งานพลังงานอย่างสิ้นเปลือง

สังเกตในรูปภาพที่ 6 เราสามารถบังคับให้ปั๊มย้ายจุดทำงานจากทุด A1 ไปยังจุด C1 ได้โดยการหรี่วาล์วที่ฝั่งขาออกของปั๊ม ซึ่งค่าหัวของปั๊มที่หายไประหว่างจุด A1 กับจุด C1 ก็คือค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการไหลผ่านวาล์วที่เปิดไม่เต็มที่ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผล แต่ถ้าหากจะให้เปรียบเทียบแบบสุดกู่เลย ก็จะเหมือนกับการเลือกซื้อแอร์ที่ทำความเย็นได้เย็นสุด ๆ มาใช้ในห้อง แล้วเราก็ทำการปรับอุณหภูมิของห้องโดยการเปิดหน้าต่าง, ประตูในห้อง ให้ได้อุณหภูมิตามที่เราต้องการ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงอีกข้อก็คือปั๊มแต่ละตัวก็จะมีค่าอัตราการไหลที่น้อยที่สุดที่ทำได้ (minimum flow allowable) หากใข้งานที่อัตราการไหลต่ำไปกว่านี้ก็จะทำให้ปั๊มเสียหายได้


รูปที่ 6 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าอัตราการไหลกับค่าหัวของปั๊ม ที่ความเร็วต่าง ๆ กับของระบบ เมื่อมีการหรี่วาล์ว (เส้นสีเขียว)

 

ข้อควรระวังเพิ่มเติมสำหรับการใช้งานระบบควบคุมความเร็วในระบบ ก็คือ ควรระวังและสังเกตระดับการสั่นสะเทือนของปั๊ม เพราะถ้าหากว่าโชคร้ายจริง ๆ ปรับไปเจอเข้ากับค่าความถี่ธรรมชาติ (Natural Frequency) ปัญหาการสั่นสะเทือนจาการสั่นพ้องกับความถี่ธรรมชาติจะพบได้มากกว่าในปั๊มแบบแนวตั้ง (Vertical Pump Unit)

ถ้าหากว่าความเร็วที่ต้องการจะต้องเพิ่มขึ้น ก็ควรตรวจสอบด้วยว่าปั๊มที่มีอยู่นั้นสามารถรับโหลดที่เพิ่มขึ้นด้วยได้หรือไม่ และกำลังของอุปกรณ์ขับ (มอเตอร์) มีเพียงพอหรือไม่ สังเกตในสมการกฎความคล้ายกำลังของปั๊มจะเพิ่มขึ้นเป็นกำลังสามของความเร็วที่เพิ่มขึ้น

ความเร็วที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลถึงค่าความดันขาเข้า หรือค่าส่วนต่างของ NPSH (Net Positive Suction Head) อีกด้วย ค่า NPSH ที่ไม่เพียงพอก็ส่งผลให้เกิดการสูญเสียประสิทธิภาพ, เสียง, การสั่นสะเทือน, และความเสียหายของใบพัด  โดยทั่วไปแล้วค่า NPSH Requirements จะเพิ่มขึ้นเป็นกำลังสองของค่าความเร็ว (เช่นเดียวกันกับค่าหัวของปั๊ม ตามสมการของกฎความคล้าย) และก็เช่นเดียวกันควรปรึกษากับทางผู้ผลิตหรือผู้ขายสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม

 

เรียบเรียงและจัดทำโดย; อานนท์ ยอดพินิจ

ที่มา; PUMP AND SYSTEM TROUBLESHOOTING HANDBOOK, Performance Curve vs. System Curve, Phil Mayleben