Pump Guru

Home / Pump Guru


Pump Type Selection [22 December 2021]

หลังจากที่เราได้ออกแบบระบบของเราเรียบร้อยแล้ว ลำดับถัดมาคือการเลือกชนิดของปั๊ม โดยหลักการของปั๊มชนิดต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาจากระบบต่าง ๆ นี่เอง โดยการวิเคราะห์เกณฑ์ต่าง ๆ ของระบบ เราสามารถกำหนดคุณสมบัติทางไฮดรอริค, ทางเครื่องกล และข้อกำหนดด้านวัสดุของปั๊มได้ หลังจากที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้น เราก็จะสามารถกำหนดชนิดของปั๊มที่เราให้เหมาะสมกับการใช้งานในระบบของเราได้ โดยเริ่มต้นจาก ตัดสินใจระหว่างปั๊มแบบการแทนที่เชิงบวก (Positive Displacement Pump) หรือจะเป็นแบบเชิงกล (Kinetic Pump) หรือที่รู้จักและใช้กันมากที่สุดก็คือปั๊มหอยโข่ง (Centrifugal Pump)


รูปแสดงปั๊มการขจัดเชิงบวก แบบ Internal Gear [Viking] (ซ้าย) และปั๊มแบบเชิงกล แบบปั๊มหอยโข่ง [Travaini] (ขวา)

 

ตัวอย่างเช่น ต้องการปั๊มของเหลวหนืดที่อัตราการไหลต่ำ ๆ และต้องการแรงดันสูง ลักษณะเช่นนี้จะเป็นตัวบ่งชี้แล้วว่าจะต้องเลือกใช้ปั๊มแบบการแทนที่เชิงบวก ในทางกลับกัน หากต้องการอัตราการไหลสูง ๆ และปั๊มของเหลวใส ไม่หนืด ที่แรงดันปานกลาง ก็จะแนะนำเป็นปั๊มหอยโข่ง นอกเหนือจากนี้ ก็จะมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ลักษณะการไหลต้องการเป็นระลอก (Pulsed) หรือเป็นแบบต่อเนื่อง (Continuous), ต้องการปั๊มแบบเสตจเดีว หรือหลายเสตจ, ของเหลวใสไม่มีของแข็งปน หรือของเหลวขุ่น มีอนุภาคของแข็ง หรือมีตะกอนหรือไม่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าเราควรจะเลือกใช้ปั๊มประเภทใด

ลักษณะของระบบที่มีความซับซ้อนเองก็จะส่งผลให้ปั๊มต้องทำงานที่จุดทำงานที่หลากหลาย ความหลากหลายตรงนี้เองก็ส่งผลกับการเลือกชนิดของปั๊มเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ปั๊มสำหรับฉีดสารเคมี ที่ต้องฉีดส่วนผสมต่าง ๆ กัน ไปยังจุดต่าง ๆ ของระบบ และต้องการแรงดันที่ต่างกันออกไป ก็จะต้องเป็นปั๊มประเภทการแทนที่เชิงบวก



กราฟดังแสดง เป็นกราฟแสดงช่วงการทำงานของปั๊มชนิดต่าง ๆ ที่มีใช้งานกันในเชิงพานิชย์ของปั๊มหอยโข่งเสตจเดียวทั้งแบบ End Suction และ Axially Split (Double Suction) โดยสังเกตว่าการใช้งานปั๊มชนิด Vertical Turbine จะค่อนข้างอเนกประสงค์ โดยอาจใช้งานได้ที่ช่วงของแรงดันและอัตราการไหลเดียวกันกับปั๊มหอยโข่งทั้งแบบสเตจเดียวหรือหลายสเตจ สำหรับส่วนของช่วงที่มีแรงดันสูง ๆ (รวมถึงช่วงของปั๊มการแทนที่เชิงบวก) ก็อาจจะใช้งานได้ แต่ต้องมีการออกแบบพิเศษ เช่น ปั๊มความเร็วสูง หรือ ปั๊ม Regenerative Turbine

ปั๊มหอยโข่งอาจจะสามารถใช้งานกับของเหลวหนืดได้ โดยทางผู้แต่งได้กำหนดให้ ค่าประมาณ 5000 SSU เป็นค่าสูงสุดที่ปั๊มหอยโข่งจะสามารถทำงานได้ การเพิ่มขึ้นของความหนืดจะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพแรงดัน-อัตราการไหลของปั๊ม และส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อประสิทธิภาพไฮดรอริค

ปั๊มการแทนที่เชิงบวกจะสามารถรับมือกับของเหลวหนืดได้ดีกว่า และจะเป็นปั๊มที่ใช้งานโดยทั่วไปหากเจอสารหนืด ๆ โดยประสิทธิภาพไฮดรอริคของปั๊มประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับปั๊มแต่ละชนิดเลย โดยที่การเพิ่มขึ้นของความหนืด (ที่แรงดันระดับปานกลาง) แทบจะไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของปั๊มเลย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า คุณสมบัติของสารที่ปั๊มทำงานด้วยมีผลต่อการเลือกปั๊มขนาดไหน ดังนั้นแล้ว หากครั้งหน้าต้องมีการขอออกแบบ หรือขอราคาปั๊ม ก็อย่าลืมส่งข้อมูลให้ครบถ้วนด้วยนะครับ

 

เรียบเรียงและจัดทำโดย; อานนท์ ยอดพินิจ

ที่มา; Pump and System Troubleshooting Handbook, Selecting a Pump – What type should it be ?, J. Robert Krebs.