Pump Guru

Home / Pump Guru


สตาร์ตมอเตอร์อย่างไร ?? [22 December 2021]

ในอาทิตย์นี้ Pump Guru ก็จะมากล่าวถึงอุปกรณ์ที่เป็นของคู่กันกับปั๊มของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ มอเตอร์นั่นเอง และในการที่เราจะสตาร์ตมอเตอร์ขึ้นมานั้น ก็มีด้วยกันหลากหลายวิธี แล้ววิธีไหนถึงจะเป็นวิธีที่เหมาะสมกับระบบของเราที่สุด เราจะมาหาคำตอบกัน

สวัสดีครับ ก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักกับกราฟความสัมพันธ์ ระหว่างแรงบิดมอเตอร์ / แรงบิดต้านของโหลดประเภทต่าง ๆ กับความเร็วรอบของมอเตอร์ และกราฟความสัมพันธ์ระหว่างกระแสที่จ่ายให้แก่มอเตอร์ กับความเร็วรอบของมอเตอร์ ดังนี้


หากสังเกตจากกราฟความสัมพันธ์ระหว่างแรงบิดกับความเร็วของมอเตอร์ เราจะเห็นปัญหาที่ผู้ใช้งานมอเตอร์จะต้องเผชิญหากต้องสตาร์ตเครื่องขึ้นมา นั่นก็คือในช่วงเวลาเริ่มต้นมอเตอร์ต้องใช้กำลังในการเอาชนะแรงต้าน ทำให้เกิดการสะสมของกระแส เกิดเป็นกระแสกระชาก (Inrush Current) ซึ่งอาจกินกระแสได้มากถึง 7-8 เท่าของกระแสใช้งานปกติ (ตามที่แสดงในกราฟความสัมพันธ์ระหว่างกระแส กับความเร็วรอบ) ซึ่งกระแสที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นนี้ก็อาจจะส่งผลเสียต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ โดยรอบ หรือทำให้ไฟฟ้าภายในโรงงานตกเลยก็ได้ นอกจากนี้แรงบิดกระชากของมอเตอร์ก็ส่งผลต่ออายุการใช้งานของอุปกรณ์ทางกลอื่น ๆ ได้ ดังนั้นแล้ว การเลือกวิธีการสตาร์ตมอเตอร์ จึงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสม เพื่อที่จะส่งผลเสียหายต่ออุปกรณ์น้อยที่สุด

สิ่งที่เราควรจะพิจารณาก็ได้แก่ ลักษณะการใช้งานมอเตอร์ในงานที่ต่างประเภทกัน ก็จะมีลักษณะของแรงต้านที่ต่างกัน โดยลักษณะของงานประเภท ขับสายพาน ขับเครื่องบด แรงต้านจะมีลักษณเป็นเส้นตรงคงที่ ลักษณะของงานประเภท ขับเครื่องคอมเพลสเซอร์ ก็จะมีลักษณะเป็นเส้นตรง แต่มีความชัดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หรือลักษณะของงานประเภทปั๊มน้ำ ปั๊มหอยโข่ง พัดลม โบลเวอร์ แรงต้านจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Exponential) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึง ขนาดของแรงต้าน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดค่าแรงบิดตอนเริ่มต้นของมอเตอร์ และค่าโมเมนต์ความเฉื่อย ซึ่งเป็นตัวกำหนดค่าความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงการหมุน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดระยะเวลาในการสตาร์ต ก็เป็นอีกค่าหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความเร็วในการสตาร์ตของมอเตอร์ กล่าวคือ ยิ่งสิ่งที่ถูกขับมีค่าโมเมนต์ความเฉื่อยมาก เวลาที่ใช้ในการสตาร์ตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ตอนนี้เราก็ได้รู้จักกับ แรงบิดของมอเตอร์ แรงต้าน กระแสกระชาก และโมเมนต์ความเฉื่อยกันแล้ว เราก็มาดูกันว่าวิธีการในการสตาร์ตมอเตอร์ ซึ่งวันนี้เราจะขอนำเสนอทั้งหมด 4 วิธีที่นิยมพบเจอกันทั่วไปกัน พร้อมทั้งกล่าวถึงข้อดี และข้อเสียไปพร้อม ๆ กันเลย ได้แก่

1.       การสตาร์ตแบบ Direct Online (DOL)

เป็นวิธีการสตาร์ตที่ง่ายที่สสุด ถูกที่สุด และมีการใช้อย่างแพร่หลาย และยิ่งไปกว่านั้น การสตาร์ตด้วยวิธีการนี้ยังเป็นวิธีที่อุณหภูมิภายในตัวมอเตอร์เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด โดยหลักการเพียงแค่ต่อมอเตอร์เข้ากับแหล่งจ่ายไฟโดยตรง โดยไม่ต้องมีระบบควบคุมใด ๆ

 

ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ ผลของกระแสกระชาก ที่อย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า สามารถพุ่งขึ้นสูงได้ถึง 7-8 เท่า ของกระแสใช้งานปกติ จึงเป็นเหตุให้การใช้งานการสตาร์ตแบบ DOL นี้ เหมาะแค่กับมอเตอร์ขนาดเล็ก ๆ ที่ใช้งานกระแสที่ไม่สูงมาก หรือหากจำเป็นต้องใช้งานกับมอเตอร์ขนาดใหญ่ ก็ควรพิจารณาถึงกระแสกระชาก และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย นอกจากนี้ การสตาร์ตมอเตอร์ด้วยวิธีการนี้ควนจะต้องพิจารณาถึงอุปกรณ์ป้องกันระบบไฟฟ้า และตัวมอเตอร์เองด้วย เช่น Over-Current Protection, Under-Voltage Protection, Short Circuit Protection เป็นต้น

 

2.       การสตาร์ตแบบ Star – Delta

สำหรับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ 3 เฟส หากเราเดินสายชุด Stator แบบ Delta ค่ากำลังที่ได้จะมีค่าเป็น 3 เท่าของ การเดินสาย Stator แบบ Star แต่ค่ากระแสของการเดินสายในชุด Stator แบบ Star จะใช้เพียงแค่ 1/3 ของกระแสใช้งานในชุด Stator แบบ Delta ดังนั้น เราจึงนำเอาหลักการนี้ไปใช้งานในการสตาร์ตของมอเตอร์เพื่อปรับลดการใช้กระแสในตอนสตาร์ต โดยการสตาร์ตโดยใช้สายไฟแบบ Star เพื่อลดปริมาณของกระแสในขณะสตาร์ต และทำงานโดยใช้สายไฟในชุด Delta  เพื่อเพิ่มค่ากำลังและแรงบิดสำหรับการใช้งาน


ข้อเสียของการใช้วิธีการนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าจะสามารถลดกระแสลงมาได้ถึง 1/3 แต่ค่าแรงบิดเองก็ถูกลดลงเช่นกัน โดยลดลงเหลือเพียงแค่ 33% เท่านั้นในขณะสตาร์ต นอกจากนี้การที่แรงบิดของมอเตอร์ลดลง ส่วนต่างระหว่างแรงบิดของมอเตอร์กับแรงต้านที่แคบลงทำให้อัตราเร่งของมอเตอร์ลดลงไปด้วย การสับสวิตช์จากวงจร Star ไปยัง Delta (แรงบิดมอเตอร์เพิ่มขึ้นทันที) ส่งผลให้อัตราเร่งของมอเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน และนำไปสู่กระแสกระชาก ไม่ต่างไปจากการสตาร์ตแบบ DOL เช่นกัน


จากกราฟก็จะเห็นว่ายิ่งแรงต้านเข้าใกล้ แรงบิดของมอเตอร์มากเท่าไหร่ มอเตอร์ยิ่งต้องการอัตราเร่งมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ค่ากระแสกระชากสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นสำหรับประเภทของโหลดที่มีการเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเช่น คอมเพลสเซอร์ หรือปั๊ม ก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

 

3.       การสตาร์ตแบบ Soft Starter

เป็นการสตาร์ตโดยใช้ระบบควบคุมผ่านระบบอีเล็กโทรนิค ซึ่งใช้การควบคุมปรงดันเริ่มต้นของกระแสที่จ่ายให้แก่มอเตอร์ให้เหมาะสมกับค่าแรงบิดของแรงต้าน (ให้เพียงพอที่จะชนะแรงต้าน) ซึ่งการจัดการลักษณะนี้จะช่วยให้การสตาร์ตมอเตอร์นิ่มนวลขึ้น และลดกระแสกระชากขณะสตาร์ตได้อย่างดี นอกจากนี้ในบางรุ่นยังสามารถทำฟังก์ชั่น Soft Stop ได้ ซึ่งในระบบปั๊มน้ำ จะช่วยป้องกันการเกิดปรากฏการณ์ค้อนน้ำ (Water Hammer) ได้อีกด้วย กล่าวคือ หากทำการปิดการทำงานของมอเตอร์ที่ไม่มีฟังก์ชัน Soft Stop การหยุดอย่างกะทันหันจะส่งผลให้ของเหลวที่ไหลอยู่ในระบบท่อไหลกลับมากระแทกปั๊มได้ การค่อย ๆ หยุด ค่อย ๆ ลดความเร็วของของเหลวก็จะช่วยยืดอายุการทำงานของปั๊มเราอีกด้วย

 

ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ ไม่สามารถปรับค่าความเร็วรอบและแรงบิดของมอเตอร์ได้ขณะที่ใช้งาน อุปกรณ์ Soft Starter จะทำงานแค่ในช่วงขณะสตาร์ตและกำลังหยุดเท่านั้น ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงไม่ช่วยในการประหยัดพลังงานเหมือนกับ VFD ในแต่ละรุ่นของ Soft Starter ยังมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และต้องเลือกให้เหมาะสมกับระบบของเรา ในส่วนของราคาก็ค่อนข้างสูงหากเทียบกับการสตาร์ตแบบ DOL และ Star-Delta

4.       การสตาร์ตโดยใช้ Variable Frequency Drive (VFD)

Variable Frequency Drive (VFD) หรือ Variable Speed Drive (VSD) เป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดความถี่ของกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้สามารถควบคุมได้ทั้งแรงบิดและกระแสของมอเตอร์ ในหลักการที่คล้าย ๆ กับการสตาร์ตด้วย Soft Starter แต่เป็นการจำกัดโดยใช้ความถี่ของกระแสไฟฟ้าแทน ซึ่งข้อดีของการใช้งาน VFD ก็คือสามารถควบคุมความเร็วของมอเตอร์ได้ตลอดการใช้งาน รวมถึงสามารถทำ Soft Stop ได้อีกด้วย ไม่เหมือนกับ Soft Starter ที่ทำการควบคุมได้แค่ตอนสตาร์ตหรือหยุดเครื่องเท่านั้น และยังช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงานอีกด้วย


ข้อเสียของ VFD ก็คือราคาที่สูงกว่าวิธีการที่กล่าวมาทั้งหมด และในการเลือกใช้งานจำเป็นต้องคำนึงถึงอุณหภูมิและการถ่ายเทความร้อนของมอเตอร์ หากมอเตอร์มีการถ่ายเทความร้อนที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดความเสียหายได้ นอกจากนี้ เช่นเดียวกันกับ Soft Starter ในแต่ละรุ่นก็ยังมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน การเลือกให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ของเราจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ

 

เป็นยังไงบ้างครับ สำหรับวิธีการสตาร์ตมอเตอร์ทั้ง 4 แบบ ในการเลือกวิธีการในการสตาร์ตครั้งหน้า ก็อย่าลลืมคิดถึงประเภทของการใช้งาน ขนาดของแรงต้าน กระแสกระชาก ระยะเวลาในการสตาร์ต และข้อดีข้อเสียของวิธีการต่าง ๆ กันด้วยนะครับ และที่สำคัญอย่าลืมติดตาม Pump Guru กับบทความความรู้ดี ๆ จากเรากันด้วยนะครับ

 

เรียบเรียงและจัดทำ โดย อานนท์ ยอดพินิจ

ที่มา:

https://mall.factomart.com/guide-to-motor-control/why-different-starting-methods/

https://automationforum.co/starting-methods-of-motor/

https://mall.factomart.com/when-to-use-soft-starter-and-vfd/

https://realpars.com/vfd-vs-soft-starter/

https://www.youtube.com/watch?v=CVYkilD7fm0