Pump Guru

Home / Pump Guru


Cavitation & NPSH [21 December 2021]

ทำความรู้จักกับปรากฏการณ์คาวิเตชั่น (Cavitation) อะไรคือสาเหตุและผลที่เกิดขึ้น รวมถึงทำความรู้จักกับค่า Net Positive Suction Head (NPSH) ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการเกิด Cavitation ได้


ปรากฎการณ์คาวิเตชั่น เป็นการก่อตัวและแตกออกของฟองอากาศ หรือไอระเหยของของเหลว ซึ่งฟองอากาศเหล่านี้เกิดขึ้น ณ จุดที่ความดันของสภาพแวดล้อมของของเหลวมีค่าน้อยกว่าความดันไอ (Vapour Pressure) และฟองอากาศเหล่านี้เกิดการแตกตัว หรือระเบิดออก ณ จุดที่ความดันมีการเพิ่มขึ้นกลับมาที่ความดันไอ 


ค่าความดันไอของน้ำ ที่อุณหภูมิ 100 C อยู่ที่ 1 atm กล่าวคือ น้ำจะเริ่มระเหยที่อุณหภูมิ 100 C เมื่ออยู่ที่แรงดัน 1 atm

 

ปรากฎการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ที่ใบพัดของเรือ หรือระบบไฮดรอลิคอื่น ๆ อย่างเช่น ระบบ Bypass Orifice หรือ ในการหลี่วาล์ว ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของความเร็วของของเหลว และเกิดการลดลงของแรงดันจนอาจต่ำกว่าความดันไอของของเหลวได้

 

Cavitation Effects – ผลของปรากฏการณ์คาวิเตชั่น

 

ระยะการก่อตัวของฟองอากาศ

อัตราการไหลที่ลดลง ในขณะที่ของเหลวถูกแทนที่ด้วยไอ และการเกิดความไม่สมดุลกันเชิงกล (Mechanical Imbalance) เมื่อเส้นทางของใบพับางส่วนถูกแทนที่ด้วยไอของของเหลวซึ่งเบากว่าของเหลวหลายเท่า นำไปสู่ปัญหาการสั่นสะเทือน (Vibration), เพลาคด (Shaft Deflection) และส่งผลถึงความเสียหายต่อแบริ่ง, ซีลรั่ว และ เพลาขาดในที่สุด ในปั๊มหลายสเตช (Multi-Stage Pump) จะมีเรื่องการเสียสมดุลในแนวแกนของเพลาอีกด้วย นำไปสู่ความเสียหายของ Thrust Bearing ได้

 

ระยะการแตกตัวของฟองอากาศ

ความเสียหายทางกลเกิดขึ้น จากการแตกตัวหรือระเบิดออกของฟองอากาศ ซึ่งมีความรุนแรงขนาดที่ทำให้เนื้อของใบพัดหลุดออกมาได้เลย

เกิดเสียงและการสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกตัวของฟองอากาศ โดยเฉพาะเสียง แกรก ๆ ที่ดังราวกับว่าเรากำลังปั๊มเม็ดทรายอยู่ก็เป็นคำเตือนที่เตือนเราอยู่ว่าได้เกิดการคาวิเตชั่นขึ้นแล้ว

Speech Bubble: Oval: ฟองอากาศ

ที่มา; Viking Pump School, Net Positive Suction Head (NPSH)

 

Net Positive Suction Head

ในการออกแบบระบบปั๊มและการเลือกปั๊ม สิ่งที่ต้องมีการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนเลยก็คือค่า Net Positive Suction Head (NPSH) หรือในภาษาไทยก็คือ ค่าสมรรถภาพการดูดของเครื่องสูบ เพื่อป้องกันการเกิดคาวิเตชั่น ซึ่งการวิเคราะห์อย่างถูกต้องจะต้องใช้งานทั้ง Net Positive Suction Heads Available [NPSHa] ในระบบ และค่า Net Positive Suction Head Required [NPSHr] ของตัวปั๊มเอง

NPSHa คือค่าที่ได้มาจากการวัดค่า หรือคำนวณค่าของความดันสัมบูรณ์ที่อยู่เหนือค่าความดันไอที่ท่อด้านเข้าก่อนถึงปั๊ม หรือก็คือค่าความดันสัมบูรณ์ทั้งหมดที่เหลืออยู่ก่อนที่ของเหลวจะเข้าสู่ปั๊ม โดยเริ่มจากความดันที่กดของเหลวอยู่ ถ้าหากว่าเป็นถังเปิดก็คือค่าความดันบรรยากาศ ณ จุด ๆ นั้น หรือ ถ้าหากเป็นถังแรงดัน ก็คือค่าแรงดันที่กดผิวของของเหลวอยู่ ซึ่งจะเป็นแรงดันที่ช่วยกดของเหลวให้เข้าสู่ปั๊มนั่นเอง

ลำดับต่อมาก็คือ ค่าความสูญเสียต่าง ๆ ทั้งแรงดันสถิตด้านดูด (Static Suction Head) ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งค่าความสูญเสีย หรือตัวช่วย กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ความสูงในแนวดึ่งระหว่างจุดศูนย์กลางของตัวปั๊มไปยังผิวของของเหลว ถ้าหากระดับของของเหลวอยู่สูงกว่าก็จะมีค่าเป็นบวก แต่ถ้าหากอยู่ต่ำกว่าก็จะมีค่าเป็นลบ และก็อย่าลืมพิจารณาด้วยว่าระดับต่ำที่สุดที่ปั๊มจะดูดออกจากถังอยู่ที่เท่าไหร่นะครับ

อีกค่าหนึ่งก็คือค่าความสูญเสียที่เกิดจากการไหล (Dynamic Suction Head) อันเป็นผลมาจากความเสียดทานภายในท่อ (Pipe Friction Loss) ซึ่งก็จะใช้วิธีในการคำนวณเช่นเดียวกันกับการคิดค่าความสูญเสียภายในท่อโดยปกติ จากต้นทางแหล่งดูดหรือถังเก็บของเหลว ไปยังท่อฝั่งดูดของตัวปั๊ม ซึ่งจะมีค่าเป็นลบเสมอ และยิ่งอัตราการไหลสูงมากเท่าไหร่ ค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ค่าสุดท้ายก็คือ ค่าความดันไอของของไหล ซึ่งก็เป็นค่าที่ได้อธิบายเอาไว้แล้วในตอนต้น แต่สิ่งที่อยากจะย้ำกันอีกรอบก็คือ ให้พิจารณาค่าความดันไอของของเหลวที่อุณหภูมิของจุดใช้งาน ซึ่งสำคัญมาก เนื่องจากว่าค่าความดันไอที่อุณหภูมิต่าง ๆ กัน ก็จะมีค่าต่างกันด้วย ดังกราฟที่แสดงไว้ให้ดูแล้วในตอนต้น

 

ที่มา; Goulds Pump Manual, TECH-A-5 Net Positive Suction Head (NPSH) and Cavitation

 

NPSHr จะอ้างอิงจากจุดกึ่งกลางของใบพัดปั๊มเสมอ โดยมีที่มาจากการวัดค่าความดันสูญระหว่าที่ของเหลวเดินทางจากท่อดูดของปั๊มผ่านไปตามห้องปั๊มไปจนถึงตาใบของปั๊ม ซึ่งค่านี้ก็จะขึ้นกับค่าความสูญเสียจากความเสียดทานและความปั่นป่วนของของเหลวที่เกิดขึ้น ซึ่งค่าเหล่านี้ ทางโรงงานผู้ผลิตปั๊มจะเป็นผู้หาค่าผ่านการทดลองที่จุดทำงานต่าง ๆ โดยการทดลองจะเป็นไปตามมาตรฐาน Hydraulic Institute Test Standard 1988 Centrifugal Pumps 1.6.


ลักษณะของแรงดันของของเหลวที่วิ่งผ่านตัวปั๊ม ซึ่งจุด D จะเป็นจุดที่ความดันมีค่าต่ำที่สุด และเป็นจุดที่จะเกิดฟองอากาศขึ้น

 

โดยที่ค่าทั้งสอง (NPSHa และ NPSHr) จะมีความสัมพันธ์กันก็คือ ค่า NPSHa จะต้องมากกว่าค่า NPSHr ในระดับหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปรากฏการณ์คาวิเตชั่น ในส่วนที่ว่าจะต้องห่างกันเท่าไหร่ก็แล้วการออกแบบของแต่ละอุปกรณ์ไป ในการใช้งานโดยทั่วไปส่วนใหญ่ ค่า NPSHa จะมากกว่าค่า NPSHr อยู่พอสมควรอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบางกรณีที่ทั้งสองค่านี้ใกล้เคียงกัน [0.5-1.5 m] ผู้ใช้งานควรปรึกษากับผู้ผลิต และควรจะมีข้อตกลงกันถึงช่องว่างของค่า NPSH ที่เหมาะสม ซึ่งควรจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของของเหลว, ค่า NPSHa ที่น้อยที่สุด และที่จุดใช้งานปกติ รวมถึงอัตราการไหลที่จุดใช้งานด้วย